Tuesday, July 6, 2010

ความรู้เบื้องต้นเพื่อการก่อสร้างบ้าน

การเตรียมพื้นที่ก่อสร้างจะต้องทำอย่างไร
พื้นที่สำหรับการก่อสร้างบ้านพักอาศัยของเรานอกจากเรื่องการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินว่าถูกต้องตามกฎหมาย ติดขัดสิ่งใดหรือไม่ หากการก่อสร้างจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารโดยมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดบ้าง เราจำเป็นต้องปรึกษากับสำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่หรือธนาคาร กรณีที่อยู่ระหว่างการพิพาทก็จำเป็นที่จะต้องปรึกษาทนายความ ต้องบอกกันตรงๆ ว่าสิ่งที่จะกล่าวไว้ในบทความนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรมล้วนๆ

การเตรียมพื้นที่ก่อสร้างมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ก่อนเริ่มงานก่อสร้างที่เราจะต้องรู้สภาพพื้นที่ของเราเพื่อจะได้พูดคุยหรือตกลงในการวางแผนกับผู้รับเหมา สิ่งที่จะต้องเตรียมการและตกลงกับผู้รับเหมามีดังนี้

การตัดต้นไม้
ถ้าการก่อสร้างจำเป็นต้องตัดต้นไม้ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ผู้รับเหมาจะตัดต้นไม้ได้เฉพาะต้นที่ทับสิ่งก่อสร้างเท่านั้น ส่วนต้นอื่นๆ ที่กีดขวางการก่อสร้างจะต้องได้ความยินยอมจากเจ้าของบ้านเสียก่อนจึงจะตัดได้ โดยผู้รับเหมาจะต้องจัดทำให้เรียบร้อย และขนย้าย           ให้พ้นสถานที่ก่อสร้างดวยค่าใช้จ่ายของผู้รับเหมาทั้งสิ้น

การสร้างโรงเก็บของ และที่พักคนงานชั่งคราว
ในระหว่างการก่อสร้าง หากจำเป็นต้องสร้างโรงเก็บของ หรือที่พักคนงานชั่วคราว เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะที่พักคนงานชั่วคราวเนื่องจากการมีบุคคลภายนอกเข้ามาเพิ่มในชุมชนที่เราจะก่อสร้าง ย่อมเกิดผลกระทบทั้งในด้านดีและเสียกับเพื่อนบ้านอย่างปฎิเสธไม่ได้ ดังนั้นเราควรที่จะชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ให้ดี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้รับเหมามักจะใช้วิธีการรับ-ส่งคนงานโดยมีบ้านพักของคนงานของผู้รับเหมาเองด้วย ประเด็นนี้จึงควรคำนึงถึงเช่นกัน สำหรับโรงเก็บของก็ควรปิดมิดชิด และตำแหน่งที่ก่อสร้่างก็ไม่ควรกีดขวางทางเข้าออก ขนส่งของได้ง่ายและไม่ทับพื้นที่ก่อสร้าง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาย้ายโรงเก็บของในภายหลัง ส่วนสุดท้ายก็คือ ห้องน้ำสำหรับคนงานและผู้ควบคุมการก่อสร้างควรมีการจัดเตรียมให้ถูกหลักอนามัย

การรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิม
ถ้าการก่อสร้างที่จำเป็นต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมของเรา และในสัญญาก่อสร้างไม่ได้กำหนดไว้ ควรตกลงร่วมกับผู้รับเหมาในส่วนของค่าใช้จ่าย ดังนั้นก่อนทำสัญญาก่อสร้างจะต้องระบุให้ชัดเจน เพื่อให้งบประมาณในการก่อสร้างไม่บานปลายในภายหลัง

การปักผังและวางระดับ

ผู้รับเหมาจะต้องทำการปักผังและวางระดับที่กำหนดไว้ให้ถูกต้องตามแบบแปลน ซึ่งเราจะต้องเข้าไปตรวจสอบผัง เนื่องจากผังจะเป็นขอบเขตของบ้านเราเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว สำหรับการวางระดับเป็นการกำหนดจุดอ้างอิงที่จะถ่ายระดับความสูงไปยังตัวอาคาร เช่นระดับพื้นชั้นล่างอยู่สูงกว่าระดับอ้างอิง 20 เซนติเมตร เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำประปา และไฟฟ้าในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
การตกลงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เราจะต้องแจ้งผู้รับเหมาให้ชัดเจน สำหรับค่าน้ำ้ประปาและไฟฟ้า เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาที่จะต้องติดต่อและออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลรักษาและการใช้มีความประหยัด

ทักษะพื้นฐานทางด้านงานช่างนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดูยุ่งยากหรือซับซ้อนมากนักสำหรับการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 1 ชั้นหรือ 2 ชั้น หากเราได้มีส่วนร่วมในการสร้างบ้านตั้งแต่ต้นก็จะทำให้เกิดความผูกพันและรักบ้านของคุณเอง

การถมที่จะต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
กรณีพื้นที่ปลูกบ้านของเราอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับถนนข้างเคียงก็จำเป็นที่จะต้องถมให้สูงขึ้นซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีระบบการะบายน้ำที่ดี เห็นได้โดยทั่วไปสำหรับผู้ซื้อที่ดินที่แบ่งแปลงขายและมีเพียงถนนกับไฟฟ้า โดยให้ผู้ซื้อรับผิดชอบการถมที่เองเมื่อบริเวณพื้นที่ดังกล่าวผ่าำนไปหลายปีก็จะพบว่าผู้ที่ปลูกบ้านอยู่ก่อนแล้วจะมีระดับของพื้นที่ที่ต่ำกว่าบ้านที่ปลูกที่หลัง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ของตนหากการระบายน้ำไม่ดีกลายเป็นปัญหาลูกโซ่เรื่อยมา บางแห่งปรากฎว่าพื้นชั้นล่างของบ้านตนเองอยู่ในระดับเดียวกับพื้นชั้นที่ 2 ของบ้านใกล้เคียง การแก้ไขปัญหานี้หากจะหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐก็คงทำได้แต่อาจต้องใช้เวลานาน ดังนั้นก็ขอแนะนำให้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการถมที่ให้สูง แต่ก็ไม่ควรจะสูงมากจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้าน ประเด็นที่เราจะต้องตรวจสอบมีดังนี้
•    การเตรียมสถานที่ ต้องถางหญ้า ขุดตอ เก็บเศษหิน กากปูน ขยะและวัชพืชอื่นๆ ออกไปทิ้งให้พ้นบริเวณที่ก่อสร้าง โดยทั่วไปมักไม่ค่อยให้ความสำคัญในประเด็นนี้ ต่อไปนี้จึงขอให้ผู้ที่เตรียมจะก่อสร้างบ้านต้องกำชับผู้รับเหมาให้ทำการเตรียมพื้นที่ก่อน หากมีสิ่งไม่พึงประสงค์ตามที่กล่าวมาอาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้างฐานรากและการทรุดตัวของดินได้
•    ตรวจสอบระดับความสูงและขอบเขตการถม ให้ผู้รับเหมาจัดทำระดับที่ถูกต้องตามที่ตกลงกันว่าจะให้อยู่ในระดับสูงเท่าใด ขอบเขตขนาดไหน โดยเราจะต้องแจ้งขอบเขตที่ดินที่ถือครองให้ชัดเจน
•    วัสดุที่ใช้ถม หากใช้ดินควรเป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินลูกรัง หรือถ้าเป็นทราย ทรายปนดิน ทั้งนี้ต้องไม่มีวัชพืชและเศษขยะ ราคาต่อหน่วยที่ใช้ถมดินในปริมาณไม่มากจะคิดเป็นเที่ยวรถ แต่หากเป็นพื้นที่ที่ต้องใช้ดินปริมาณมากอาจคิดในราคาเหมารวม
•    การถมดินรอบอาคาร ในกรณีที่แบบแปลนหรืือรายการรายละเอียดระบุ  ให้ถมดินรอบอาคารให้ถมที่ระบุไว้ในรูปแบบรายละเอียด และให้ทำเอียงลาด 1 ต่อ 2 (แนวดิ่ง 1 ส่วน ต่อแนวราบ 2 ส่วน) ลงสู่ระดับดินเดิม พร้อมตกแต่ง และบดอัดจนเรียบ โดยความสูงให้ถือตามแบบรูปหรือรายการละเอียด
•    การถมดินภายในอาคาร กรณีที่ถมด้วยดินหรือดินลูกรังให้เป็นถมเป็นชั้นๆ ละไม่เกิน 25 เซนติเมตร แต่ละชั้นให้บดอัดด้วยเครื่องบดอัดจนแน่น สำหรับในกรณีที่ถมด้วยทราย ต้องหาวิธีป้องกันทรายไหลออกจากบริเวณที่ต้องการถม พร้อมทั้งขังน้ำทิ้งไว้จนทรายทรุดตัวแน่น

ควรดูเสาเข็มอย่างไรจึงจะได้ของดี
    เสาเข็มเป็นส่วนของโคงสร้างที่อยู่ใต้ดินมีความสำคัญอย่่างมากต่อการรับน้ำหนักของอาคาร วัสดุที่ใช้ทำเสาเข็มสำหรับบ้านพักอาศัย โดยทั่วไปจะใช้เสาเข็มที่เป็นวัสดุคอนกรีตหรือไม่้ตามที่วิศวกรออกแบบ กรณีเป็นฐานรากชนิดเสาเข็มสำหรับพื้นที่ที่โครงสร้างของดินสามารถรับน้ำ้หนักได้เพียงพอในบางพื้นที่ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้เสาเข็มแต่ฐานรากจะถูกออกแบบเป็นฐานแผ่ งานด้านฐานรากมีความสำคัญต่อโครงสร้างของบ้านเป็นอย่างมากในระยะยาว ดังนั้นการกำหนดแบบแปลนก่อสร้างจำเป็นต้องมีวิศวกรผู้ออกแบบรับผิดชอบ
•    เสาเข็มไม้ ใช้ไม้แก่นลำต้นตรงเป็นไม้ท่อนเดียว กระเทาะเปลือก ไม่มีรอยแตกแยกของเนื้อไม้ขนาดใหญ่ หรือผุจนเสียกำลัง ขนาดที่ใช้ตามที่วิศวกรเป็นผู้ออกแบบกำหนด ขนาดโดยทั่วไปจะต้องสัมพันธ์กันระหว่างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกับความยาวตามที่แสดงไว้ในตารางต่อไปนี้

เส้นผ่าศูนย์กลางเสาเข็ม (นิ้ว)    เส้นรอบวงเมื่อวัดที่               กึ่งกลางเสาเข็ม (ซ.ม.)    ความยาว                    (เมตร)
3    21    3.00
4    28    4.00
5    35    5.00
6    43    6.00
8    57    8.00

การเสี้ยมปลายเสาเข็ม ถ้าจะต้องเสี้ยมปลายระยะที่เสี้ี้ยมจะต้องไม่เกิน 2.5 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางและยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร

การวัดเสาเข็มไม้ :
เส้นผ่าศูนย์กลางเสาเข็ม ให้วัดที่เส้นรอบวงที่กึ่งกลางเสาเข็มแล้วเทียบค่าในตาราง
ความยาวเสาเข็ม วัดเมื่อตัดหัวเสาเข็มและตกแต่งปลายเสาเข็มเรียบร้อยแล้ว
•    เสาเข็มคอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตที่นำมาใช้ในงานก่อสร้างต้้องเป็นเสาเข็มที่ผลิตจากโรงงานหล่อคอนกรีตหากเป็นเสาเข็มที่มีความยาวมากกว่า 10 เมตร ควรให้วิศวกรโยธาประจำโรงงานเป็นผู้รับรองการออกแบบเสาเข็มและคุณภาพ เสาเข็มทุกต้นต้องระบุ วันเดือนปีที่ผลิต  และชื่อผู้ผลิตแสดงไว้ชัดเจน สำหรับหน้าตัดของเสาเข็มคอนกรีตมีหลายรูปแบบ เช่น รูปตัวไอ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส เป็นต้น สำหรับหน้าตัดจะต้องตรวจสอบที่แบบแปลนระบุว่ามีความกว้างเท่าไรและความยาวเท่าไร โดยทั่วไปแล้วความคลาดเคลื่อนดังกล่าวของเสาเข็มมีน้อย เนื่องจากในการผลิตจะใช้ในแบบหล่อเสาเข็มที่เป็นแบบมาตรฐานและถาวรใช้งานได้นาน สำหรับหน้าตัดเสาเข็มขนาดต่าง ๆ ในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยไม่แนะนำให้ใช้เสาเข็มหล่อคอนกรีตที่หล่อขึ้นเพื่อใช้งานเอง ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น นอกจากนั้นการวางกองและเคลื่อนย้ายเสาเข็มคอนกรีตจะต้องใช้ความระมัดระวังสูง หากยกในจุดที่ไม่ได้ออกแบบไว้อาจจะทำให้เสาเข็มที่หักหรือมีรอยแตกร้าวได้ และห้ามนำเสาเข็มที่หักหรือมีรอยแตกร้าวมาใช้งานโดยเด็ดขาด

เมื่อได้เสาเข็มแล้วจะตรวจสอบการตอกเสาเข็มอย่างไร
การตอกเสาเข็มสามารถทำได้ในหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่ใช้ทำเสาเข็มและขนาดการตรวจสอบ และการควบคุมคุณภาพในการตอกเสาเข็มเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการก่อสร้างบ้้านพักอาศัย ควรตรวจสอบดูว่าจำนวนเสาเข็มที่ตอกในหนึ่งรากฐานเท่ากับจำนวนที่ระบุไว้ในแบบหรือไม่ นอกจากนั้นขณะที่ทำการตอกไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดก็ตามเสาเข็มก็ต้องตั้งในแนวดิ่ง หากเสาเข็มไม่สามารถตอกได้ตามที่ระบุไว้ในแบบแปลน ขอให้แจ้งแก่วิศวกรผู้ออกแบบหรือวิศวกรผู้ควบคุมงานเพื่อให้ตัดสินใจตามหลักวิศวกรรม เนื่องจากการตอกเสาเข็มไม่ลงมีเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่ควรดำเนินการตัดสินใจใด ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุโดยเด็ดขาด

การสร้างบ้านในบางพื้นที่จำเป็นต้องใช้เสาเข็มที่มีความยาวมากซึ่งอาจจะถึง                  22 เมตร ดังนั้นจึงต้องใช้เสาเข็มชนิดต่อก็คือ การใช้เสาเข็ม 2 ท่อนต่อกัน ไม่ควรมีมากกว่า 2 ท่อน สำหรับข้อต่อระหว่างเสาเข็มท่อนแรกกับท่อนที่สองต้องเป็นเหล็กเหนียวและหล่อเป็นส่วนเดียวกับตัวเข็มแต่ละส่วน การต่อให้ต่อโดยวิธีเชื่อมด้วยไฟฟ้า

ปูนซีเมนต์มีหลายชนิดจะเลือกใช้ชนิดใดดี
    วัสดุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการก่อสร้างบ้านก็คือปูนซีเมนต์ ปัจจุบันผู้ผลิตปูนซีเมนต์มักจะให้ความรู้พร้อมกับโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนเองไปในตัวเพื่อให้ผู้สร้างบ้านได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตรงกับคุณสมบัติที่แท้จริงของปูนซีเมนต์ สำหรับปูนซีเมนต์ชนิดหลักๆที่ใช้สำหรับการก่อสร้างบ้านพักอาศัยอาจจำแนกตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 2 แบบ ด้วยกัน คือ ปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้าง ปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อและฉาบ ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการผลิตรวมทั้งวัตถุประสงค์ในการใช้งานมีความแตกต่างกัน ดังนั้นหากผู้รับเหมารายใดบอกท่านว่าใช้อะไรก็เหมือนกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณในความเป็นช่างก่อสร้างของเขามีน้อยมาก สำหรับรายละเอียดของปูนซีเมนต์แต่ละแบบมีดังต่อไปนี้

ปูนซีเมต์สำหรับงานโครงสร้าง
    งานโครงสร้างซึ่งได้แก่ เสา, คาน, ตอม่อ, ฐานราก ล้วนแล้วแต่ต้องการความสามารถในการรับน้ำหนักของคอนกรีตที่มีกำลังสูงให้ได้ไม่น้อยกว่ามาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบ ดังนั้นส่วนผสมสำคัญของคอนกรีตที่เป็นปูนซีเมนต์ต้องเป็นชนิดที่ใช้สำหรับงานโครงสร้างเท่านั้น เราเรียกปูนประเภทนี้ว่า “ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์” ซึ่งมีการแบ่งชนิดของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนต์ออกเป็น 5 ชนิด สำหรับงานโครงสร้างของบ้านพักอาศัยและที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป เช่น ปูนตราช้าง, ปูนทีพีไอแดง, ปูนตราเพชร เป็นต้น

ปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อฉาบ

    ความจำเป็นสำหรับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการก่อสร้างเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านหรือโครงการต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ ด้วยปูนซีเมนต์สำหรับงานก่ออิฐและฉาบปูน มีส่วนผสมที่แตกต่างจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เป็นอย่างมาก เนื่องจากปูนซีเมนต์ที่ใช้สำหรับก่ออิฐและฉาบปูนจะไม่มีหินเป็นส่วนประกอบ จะมีเพียงปูนซีเมนต์, ทรายและน้ำ ดังนั้นปูนซีเมนต์ที่ใช้จึงเป็นปูนซีเมนต์ชนิดผสม เช่น ปูนตราเสือ, ปูนตรานกอินทรีย์, ปูนตราทีพีไอเขียว เป็นต้น

คอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.)
    ส่วนประกอบที่สำคัญที่ใช้ในการรับน้ำหนักและประักอบกันเป็นโครงสร้างเพื่อรองรับแรงนั้นจะเรียกว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก โดยแยกเป็นคอนกรีตและเหล็กเสริมที่เอามารวมอยู่ด้วยกัน นำมาใช้ทำเป็นวัสดุในการทำโครงสร้างของฐานราก เสา คานหรือพื้น ตามที่วิศวกรเป็นผู้ออกแบบหน้าตัดความกว้างและความยาวของโครงสร้างในแต่ละส่วนงานนั้น ๆ สำหรับส่วนประกอบของคอนกรีตเสริมเหล็ก มีดังต่อไปนี้
•    ปูนซีเมนต์  :  สำหรับงานโครงสร้างทั้งหมดให้ใช้ปูนซีเมนต์ชนิดปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ และต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
•    ทราย  :  ใช้เป็นส่วนประกอบของคอนกรีตและต้องเป็นทรายธรรมชาติและสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน
•    หิน  :  ต้องเป็นเม็ดที่มีเหลี่ยมมุม และต้องเป็นก้อนแข็งแรง
•    น้ำ  :     น้ำที่ใช้ผสมคอนกรีตจะต้องสะอาด และปราศจากสารเจือปน เช่น น้ำมัน กรด ด่าง เกลือ อินทรีย์
•    เหล็กเสริม  :     เหล็กเป็นองค์ประกอบหลักเช่นกัน การจะเสริมเหล็กขนาดและจำนวนเท่าใดควรเป็นไปตามที่วิศวกรออกแบบ เหล็กที่นำมาใช้ต้องเป็นเหล็กเส้นเหนียว ไม่มีสนิมกร่อน หรือน้ำมันจับเกาะ เส้นตรง ไม่หักงอ เป็นชนิดที่ตรงกับที่ระบุไว้ในแบบแปลน ซึ่งอาจจะเป็นเหล็ก หรือเหล็ก            ข้ออ้อย ขนาด ระยะห่าง และจำนวนของเหล็กเสริมเป็นสิ่งที่เราจะต้องใส่ใจในการตรวจสอบก่อนที่ผู้รับเหมาจะเทคอนกรีตทุกครั้ง

งานก่ออิฐและฉาบปูนที่ดีควรทำอย่างไร
    งานก่ออิฐฉาบปูนแม้จะดูเป็นงานพื้นฐานที่ไม่มีความซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นงานที่จะต้องอาศัยฝีมือของช่างก่อและฉาบเป็นหลัก หากผนังที่ได้จากการก่อและฉาบที่ผิดพลาดเมื่อเราติดตั้งวัสดุตบแต่งผนัง เช่น กระเบื้องเซรามิค ก็จะทำให้เห็นความผิดพลาดที่ผนังขึ้นมาฟ้องทันที หรือกรณีที่ต้องการทำเฟอร์นิเจอร์ชนิดติดตั้งในที่ก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องเข้มงวดในการควบคุมการก่อและฉาบให้ดี สำหรับขั้นตอนที่ดีในการปฏิบัติงานของช่างควรเป็นดังต่อไปนี้
•    งานก่ออิฐ  :     เริ่มจากการเตรียมแผ่นอิฐที่นำมาก่อต้องปัดให้สะอาดอย่าให้
มีผง หรือเศษที่แตกออกติดอยู่และต้องทำให้ชื้นเสียก่อนโดยนำไปแช่น้ำหรือพรมน้ำให้ทั่ว เพื่อไม่ให้อิฐดูดน้ำจากปูน ก่อเร็วเกินไป การเตรียมสถานที่ ส่วนที่ก่อชนกับเสาหรือเสาเอ็นคอนกรีต ต้องเสียบเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ไว้ที่เสาขณะหล่อเสาทุกระยะไม่เกิน 40 เซนติเมตร และจะต้องรดน้ำให้ความชื้นเสาคอนกรีตก่อนทำการก่อ การก่อจะต้องให้ได้แนวทั้งทางตั้งและทางนอนและต้องเรียบ โดยขึงเชือกก่อนและต้องใส่ปูนก่อให้เต็มรอยต่อโดยรอบแผ่น มุมกำแพงทุกมุมและกำแพงที่หยุดลอยๆ โดยไม่ติดกับเสาหรือตรงกำแพงที่ติดกับวงกบจะต้องมีเสาเอ็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนเหนือช่องประตู-หน้าต่างหรือช่องแสงทุกแห่งที่ก่ออิฐทับรวม ถึงเหนือกำแพงใต้วงกบหน้าต่างหรือช่องแสง จะต้องมีคานทับหลังคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดไม่เล็กกว่าเสาเอ็น สิ่งสุดท้ายที่สำคัญและเราจะต้องแจ้งผู้รับเหมาไว้ก็คือการก่ออิฐที่จะต้องก่อชนท้องคานหรือพื้นค.ส.ล. ทั้งหมดจะต้องเว้นช่องไว้ประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อให้ปูนก่อแข็งตัวและเข้าที่เสียก่อน จึงจะทำการก่ออิฐให้ชนใต้ท้องคานหรือพื้นได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดรอยแตกร้าวที่รอยต่อชนในภายหลัง
•    ฉาบปูน  :  เริ่มจากการเตรียมพื้นผิวก่อนลงมือฉาบปูนจะต้องพ่นน้ำให้ความชื้นแก่ผิวหน้าที่จะฉาบทุกครั้งเพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำของปูนฉาบ การฉาบปูนทุกครั้งต้องจัดทำแนวและระดับก่อนทุกครั้ง การฉาบปูนผิวคอนกรีต ส่วนที่เป็นท้องพื้นและท้องคานจะต้องกระเทาะผิวหน้าคอนกรีตก่อนที่จะฉาบทุกครั้ง การฉาบปูนทั้งหมดเมื่อฉาบครั้งสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผิวจะต้องเรียบ ไม่เป็นลูกคลื่นได้ดิ่งได้ระดับทั้งแนวนอนและแนวตั้ง มุมทุกมุมต้องได้ฉาก สิ่งเหล่านี้เราจะต้องสังเกตจากการทำงานของช่างปูน และอย่าลืมว่าการฉาบปูนควรหลีกเลี่ยงการฉาบปูนด้านที่มีแสงจัด ซึ่งจะเผาให้น้ำปูนระเหยแห้งเร็วกว่าปกติ เช่น เช้าควรฉาบด้านทิศตะวันตก บ่ายควรฉาบด้านทิศตะวันออก เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรอยแตกรายงาที่ผิวปูนฉาบได้

สร้างบ้านทั้งที่ไม่ทราบเกี่ยวกับโครงสร้างของบ้านเลย
    เจ้าของบ้านโดยทั่วไปมักจะทุ่มเทกับการศึกษาและค้นหาวัสดุตบแต่งพื้นผิว ประตู หน้าต่าง วัสดุมุงหลังคาที่สวยงามถูกใจ แต่น้ำหนักความสำคัญสำหรับโครงสร้างทางวิศวกรรมแล้วมักจะปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้รับเหมาเป็นหลัก ดังนั้น จึงขอนำเสนอความรู้เบื้องต้นที่ควรรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของบ้านเพื่อให้เจ้าของบ้านได้เห็นถึงความสำคัญและใส่ใจในความถูกต้องของขนาดโครงสร้างตามที่วิศวกรออกแบบ และเลือกใช้วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างได้อย่างเหมาะสม

    ความมั่นคงแข็งแรงของบ้านพักอาศัยเป็นสิ่งสำคัญที่วิศวกรผู้ออกแบบคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ดังนั้น การออกแบบทางด้านวิศวกรรมของโครงสร้างอาคารจึงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ส่วนประกอบที่สำคัญของโครงสร้างบ้านมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

โครงสร้างฐานคอนกรีตเสริมเหล็ก
    ฐานรากเป็นโครงสร้างสำคัญที่รองรับน้ำหนักของอาคารเพื่อถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดินที่มีความสามารถในการรับกำลังที่เพียงพอ การออกแบบฐานรากโดยทั่วไปจะอ้างอิงการคำนวณจากวิชา Soil Mechanic และ Foundation Design ซึ่งเป็นหน้าที่ของวิศวกรรมโยธาในการรับผิดชอบรายการคำนวณ ชนิดของฐานรากที่ใช้ในการออกแบบสำหรับบ้านพักอาศัยมีอยู่ 2 ชนิดคือ
•    ฐานรากแผ่  :  เป็นฐานที่ออกแบบสำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ที่ความสามารถของชั้นดินในการรับน้ำหนักสูงและมีระดับความลึกของชั้นดินไม่ลึกมากนัก นอกจากนั้นน้ำหนักของโครงสร้างอาจมีไม่มาก เช่น บ้านพักอาศัยชั้นเดียว เป็นต้น การตัดสินใจเลือกใช้ฐานรากแผ่จึงมีความจำเป็นที่ผู้ออกแบบจะต้องทราบถึงคุณสมบัติ และความสามารถของดินในชั้นที่ฐานแผ่วางอยู่ โดยใช้การทดสอบทางธรณีวิทยาเป็นหลัก แบบแปลนของฐานแผ่นอกจากเราใส่รายละเอียดของโครงสร้างตามที่วิศวกรออกแบบ เหล็กที่เสริมอยู่ในโครงสร้างส่วนที่เป็นฐานจะวางสานกันเป็นตะแกรง ในบางครั้งวิศวกรผู้ออกแบบอาจบอกเป็นจำนวนเหล็กตามขนาดที่กำหนดโดยไม่บอกระยะห่าง ดังนั้น เราต้องให้ผู้รับเหมาจัดระยะห่างสำหรับการวางเหล็กให้ได้ตามจำนวน
•    ฐานรากเสาเข็ม  :  เป็นฐานรากที่ถ่ายน้ำหนักจากอาคารลงสู่เสาเข็มเพื่อกระจายน้ำหนักลงสู่ดิน การรับน้ำหนักของฐานรากชนิดนี้จะอาศัยแรงเสียดทานระหว่างผิวเสาเข็มกับชั้นดินร่วมกับความสามารถในการรับน้ำหนักที่ปลายเสาเข็ม วิศวกรผู้ออกแบบจะอาศัยข้อมูลทางธรณีวิทยาในการคำนวณเพื่อประมาณค่าสำหรับการออกแบบ รายละเอียดการเสริมเหล็กจะมีเพิ่มเติมในส่วนของเสาเข็มที่ฝังเข้ามาในฐานราก และขนาดของฐานรากชนิดนี้จะเล็กกว่าฐานรากแผ่เมื่อรองรับน้ำหนักเท่ากัน เสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยแบ่งตามกรรมวิธีการก่อสร้างจะมีด้วยกัน  2 แบบ คือ
-    เสาเข็มตอก  :  เป็นเสาเข็มที่ทำจากวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือเป็นเสาเข็มไม้ก็ได้ จะถูกติดตั้งลงในชั้นดินด้วยการตอกด้วยปั้นจั่นหรือแรงคน  แบบแปลนฐานรากเสาเข็มควรระบุขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ความยาว ความสามารถในการรับน้ำหนักต่อตันให้ชัดเจน
-    เสาเข็มเจาะ  :  เป็นเสาเข็มที่ถูกติดตั้งลงในดินฐานราก โดยการใช้เครื่องมือเจาะลงไปในชั้นดินเพื่อทำการก่อสร้างเสาเข็ม ซึ่งมีรายละเอียดและขั้นตอนในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เหมาะสำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่สามารถขนย้ายเสาเข็มตอกได้สะดวกหรือมีสิ่งปลูกสร้างบริเวณใกล้เคียงหากใช้เข็มตอกอาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เสาเข็มเจาะ แบบแปลนควรระบุชนิดว่าเป็นเสาเข็มเจาะให้ชัดเจน ส่วนรายละเอียดอื่นเหมือนกับเสาเข็มตอก
•    เสาตอม่อ  :  จัดเป็นส่วนประกอบหนึ่งของฐานรากซึ่งเป็นเสาที่อยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมต่อระหว่างฐานรากกับเสาและคานคอดิน รายละเอียดในการเขียนแบบเสาตอม่อก็คือ การแสดงการดัดวางเหล็กที่ใช้เป็นเหล็กยืนในเสาซึ่งมีปลายอีกด้านหนึ่งอยู่ในฐานราก ผู้เขียนแบบจะต้องแสดงระยะให้ชัดเจน สำหรับส่วนของเสาก็จะมีเพียงขนาดของเหล็กยืน จำนวน ขนาดของเหล็กปลอก และระยะห่างของเหล็กปลอก

โครงสร้างคานคอดิน
    คานคอดินเป็นโครงสร้างที่ยึดระหว่างเสาตอม่อและรองรับกำแพงของผนังชั้นล่าง กรณีที่มีการเทพื้นคอนกรีตของอาคารชนิดพื้นบนดินคานคอดินจะช่วยกันดินที่ถมเข้ามาไว้ในอาคารไม่ให้ไหลออก สิ่งสำคัญในการก่อสร้างคานคอดินจะต้องทำการบดอัดดินที่อยู่รองรับใต้คานให้แน่นเสียก่อนที่จะทำการตั้งแบบคาน แบบแปลนของคานคอดินควรที่จะระบุส่วนประกอบของโครงสร้างให้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นขนาดหน้าตัดของคาน เหล็กเสริมหลัก เหล็กเสริมพิเศษ เหล็กปลอก นอกจากนั้นระดับอ้างอิงที่หลังคานเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรจะระบุไว้ เมื่อทำการก่อสร้างจริงจะสามารถอ้างอิงได้ถูกต้อง

เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก
    โครงสร้างของอาคารบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปที่นิยมปลูกสร้างในประเทศไทยจะเป็นระบบโครงสร้างที่ใช้คานและเสารับน้ำหนัก จะมีการก่อสร้างอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับระบบข้างต้นแล้วถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ลักษณะของเสาที่ใช้เป็นโครงสร้างของบ้านของบ้านจะประกอบด้วยส่วนของคอนกรีตและเหล็กเสริมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล้กเสริมที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเสาจะต้องมีขนาดตั้งแต่ 12 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยจะใชเหล็กขนาด 6 และ 9 มิลลิเมตร สำหรับทำเป็นเหล็กปลอก เสาสำหรับบ้านพักอาศัยจำนวนมากมักมีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่อย่างไรก็ตามก็มีรูปแบบอื่นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของวิศวกรที่ให้เป็นไปตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้ก่อนแล้ว สำหรับตำแหน่งของผังเสาจะอ้างอิงจากผังของฐานรากประกอบ เจ้าของบ้านควรใช้แบบแปลนประกอบในระหว่างผู้รับเหมาดำเนินการ ไม่ใช่เทคอนกรีตไปแล้วจึงมาตรวจสอบการวางคาน

คานคอนกรีตเสริมเหล็ก
    นอกจากคานคอดินตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว โครงสร้างของบ้านยังต้องมีคานคอนกรีตเสริมเหล็กเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย โดยคานจะยึดระหว่างเสาเพื่อรองรับน้ำหนักจากผนังและพื้นตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ ในต่างประเทศอาจมีการออกแบบเป็นระบบกำแพงรับน้ำหนักทำให้ความสำคัญของคานนั้นลดน้อยลง แต่สำหรับประเทศไทยแล้วยังเป็นที่นิยมอยู่มากในการออกแบบระบบการรับน้ำหนักด้วยเสาและคาน คานที่ใช้สำหรับการก่อสร้างจะเป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้างของคานไม่มากกว่าหน้าตักเสาที่คานเข้าไปยึดติด

พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
    พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่นิยมใช้กันทั่วไปมี 2 ชนิดด้วยกัน คือพื้นสำเร็จวางบนคาน (Slab on Beam) และพื้นชนิดวางบนดิน (Slab on Ground) การก่อสร้างพื้นทั้ง 2 ชนิดนี้ มีขั้นตอนในการก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ช่างก่อสร้างมีความชำนาญในการทำงาน นอกจากนั้นวิวัฒนาการทางด้านวิศวกรรมโยธาและกรรมวิธีการผลิตแผ่นพื้นมีการผลิตแผ่นพื้นสำเร็จสำหรับการก่อสร้างที่ต้องการช่วงความยาวมากกว่า 5 เมตร ซึ่งมีการก่อสร้างเป็น Hollow Core Slab ทำให้มีน้ำหนักเบา และสามารถรองรับน้ำหนักจรและน้ำหนักคงที่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ออกแบบกำหนดคุณสมบัติของแผ่นพื้นไว้ เจ้าของบ้านจำเป็นต้องหาข้อมูลรายละเอียดการติดตั้งจากแหล่งผลิตเพื่อให้ครอบคลุมในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้สำหรับบ้านพักอาศัยที่มีใช้กันโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ชนิดตามที่กล่าวไว้ในตอนต้นซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละชนิดดังต่อไปนี้
•    พื้นสำเร็จวางบนคาน (Slab on Beam)  :  พื้นชนิดนี้เป็นพื้นที่มีการถ่ายแรงลงสู่โครงสร้างอาคารในแนวเดียวลงสู่คานที่ได้ออกแบบไว้สำหรับรับน้ำหนักจากแผ่นพื้น ซึ่งจะมีความยาวของแผ่นพื้นโดยทั่วไปตั้งแต่ 2 – 5 เมตร และมีความกว้างของแต่ละแผ่นประมาณ 30 เซนติเมตร ในการก่อสร้างจะวางบนคานหลัง จากนั้นจะเทคอนกรีตทับด้านบนของแผ่นพื้นโดยมีความหนาประมาณ 5 เซนติเมคร สิ่งสำคัญในการติดตั้งแผ่นพื้นและการเทคอนกรีตทับก็คือการติดตั้งนั่งร้านชั่วคราวสำหรับรองรับน้ำหนักก่อนที่แผ่นพื้นจะสามารถรับน้ำหนักได้เอง
•    พื้นชนิดวางบนดิน (Slab on Ground)  :  การก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่มี         2 ชั้น ในกรณีที่มีพื้นชั้นล่างอยู่ในระดับพื้นดิน สามารถเลือกก่อสร้างพื้นชั้นล่างด้วยการใช้พื้นชนิดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีคานคอดินสำหรับป้องกันการเคลื่อนตัวของดินในด้านข้าง และมีการบดอัดดินที่ถมเข้ามาในอาคารที่เพียงพอ หากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในสภาพดินอ่อนหรือมีการทรุดตัวของดินในบริเวณข้างเคียงสถานที่ที่จะทำการก่อสร้าง เราไม่ควรใช้พื้นชนิดนี้ซึ่งจะมีผลเสียต่อโครงสร้างของพื้นในระยะยาวได้ แบบแปลนที่ดีจะต้องกำหนดรายละเอียดประกอบแบบให้ชัดเจนถึงการบดอัดดินถม รายละเอียดของเหล็กเสริมที่ใช้ในพื้นชนิดนี้จะเป็นเพียงเหล็กตะแกรงซึ่งเป็นม้วนสำเร็จ หรือเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตรก็ได้ โดยการเสริมเหล็กจะวางด้านบนของความหนาของพื้นคอนกรีตเนื่องจากเป็นเหล็กเสริมป้องกันการแตกร้าว

บันได
    ส่วนประกอบสำคัญของบ้านอีกส่วนหนึ่งก็คือ บันได เราควรประสานงานกับผู้ออกแบบให้ดีถึงการจัดวางตำแหน่งของบันได้ตลอดจนการกำหนดขนาดของขั้นบันไดและชานพัก เพื่อให้สัมพันธ์กับระดับความสูงของอาคารซึ่งจะช่วยให้ลดความผิดพลาดในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี กรณีที่มีการออกแบบเป็นบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กก็ควรเผื่อระยะของวัสดุตกแต่งผิวไว้ด้วย การเสริมเหล็กเสริมบันไดควรมีการระบุขนาดและระยะการจัดวางให้ชัดเจนในแบบแสดงรูปตัดบันได กรณีที่เป็นบันไดไม้หรือขั้นบันไดไม้แต่มีโครงสร้างเป็นเหล็กรูปพรรณก็ควรมีภาพแสดงการยึดรอยต่อและภาพแสดงการจัดวางโครงสร้างประกอบด้วย

ผนังหรือกำแพง
    สิ่งหนึ่งที่จะต้องระบุในแบบก็คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผนัง การระบุชนิดของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างผนังให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผนังภายนอกอาคารหรือภายในอาคาร เนื่องจากบางครั้งผู้ออกแบบกำหนดชนิดของวัสดุที่แตกต่างกัน เช่น ผนังภายนอกกำหนดเป็นก่ออิฐฉาบปูน ผนังกั้นห้องภายในบ้านกำหนดเป็นวีว่าบอร์ด เป็นต้น ดังนั้น เจ้าของบ้านจำเป็นต้องศึกษาชนิดของวัสดุผนังควบคู่ไปด้วยและเลือกออกมาให้ถูกใจก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างผนังนั้นมีการปรับปรุงการผลิตวัสดุให้มีความแตกต่าง และหลากหลายเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับโครงสร้างส่วนอื่นๆ

โครงหลังคา
    โครงหลังคาในปัจจุบันนิยมออกแบบโครงสร้างรับน้ำหนักหลังคาเป็นเหล็กรูปพรรณ เนื่องจากก่อสร้างได้ง่าย ผู้ออกแบบจำเป็นต้องระบุรายละเอียดของการต่อเชื่อมและจุดต่อยึดให้ดี ทั้งนี้การออกแบบที่สมบูรณ์เมื่อนำไปก่อสร้างจึงไม่เกิดข้อโต้แย้งระหว่างผู้ออกแบบกับผู้รับเหมา ซึ่งการออกแบบโครงสร้างเหล็กไม่มีเพียงการกำหนดขนาดของเหล็กเท่านั้น การออกแบบและตรวจสอบรอยต่อและจุดยึดก็มีความสำคัญมากเช่นกัน สำหรับโครงหลังคานอกจากการจัดวางโครงสร้างของเหล็กตามที่ผู้ออกแบบกำหนด ในส่วนของโครงคร่าวรองรับหลังคาจะต้องมีการออกแบบให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการจัดวางตำแหน่งโครงคร่าวจากผู้ผลิตวัสดุมุงหลังคาที่เราได้เลือกไว้ นอกจากนั้น การกำหนดรายละเอียดของงานทาสีกันสนิมเหล็กและสีจริงก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดให้ทาสีแต่ละชนิดอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ขั้น ทั้งสีกันสนิมและสีจริง เมื่อเลือกวัสดุมุงหลังคาแล้วอย่าลืมขอข้อกำหนดที่ใช้ในการติดตั้งวัสดุจากผู้ผลิตมาด้วย

ข่าวแวดวงก่อสร้าง